หลักสูตร
ชื่อภาษาไทย : หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยชุมชน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bachelor of Public Health Program in Community Health
ชื่อปริญญา
ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (อนามัยชุมชน)
ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Public Health (Community Health)
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : ส.บ.(อนามัยชุมชน)
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) : B.P.H. (Community Health)
ปรัชญา / วัตถุประสงค์
ปรัชญาหลักสูตร
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยชุมชน เป็นศาสตร์ที่มุ่งสร้างนักสาธารณสุขชุมชนวิชาชีพ โดยมีการบูรณาการศาตร์การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การตรวจประเมินและการบำบัดโรคเบื้องต้น การดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การฟื้นฟูสภาพ การอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยในชุมชนโดยนำหลักวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เน้นทักษะในการวินิจฉัยชุมชน เพื่อนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ออกแบบแผนงานโครงการ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ มีภาวะผู้นำและสามารถสื่อสาร และปฏิบัติตามคุณธรรม จริยธรรมตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะดังนี้
1) มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ รับผิดชอบ ตรงต่อเวลา รักษาวินัย อ่อนน้อมถ่อมตน และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น
2) มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์องค์ความรู้ และบูรณาการศาสตร์ทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การตรวจประเมินและการบำบัดโรคเบื้องต้น การดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การฟื้นฟูสภาพ การอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม
3) มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการสุขภาพชุมชน สามารถวางแผนและประเมินผลการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขชุมชน
4) มีทักษะการสื่อสารข้อมูลข่าวสารและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
5) มีความสามารถในการออกแบบรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพชุมชน
6) มีทักษะในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ6) การใช้กระบวนการวิจัยและเลือกใช้ผลการวิจัยในการพัฒนางานสาธารณสุขชุมชน
แนวทางการประกอบอาชีพ
1) ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบัน สำนักหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) นักวิชาการสาธารณสุข ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมและป้องกันโรค โดยใช้หลักการของระบาดวิทยาในการวิเคราะห์ วางแผน และจัดการโครงการด้านสาธารณสุขทั้งในสถานบริการสุขภาพและในชุมชน ในองค์กรภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน
3) นักวิจัย ในโครงการวิจัยด้านสุขภาพหรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4) นักวิชาการในสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข
ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร
ELO1 มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา รักษาวินัย และอ่อนน้อมถ่อมตน
ELO2 ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
ELO3 สื่อสารข้อมูลข่าวสารได้
ELO4 ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
ELO5 เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการสุขภาพชุมชน
ELO6 จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพได้
ELO7 บำบัดโรคเบื้องต้นได้ตามขอบเขตวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
ELO8 วางแผนและประเมินผลการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตได้
ELO9 ควบคุมป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขชุมชนได้
ELO10 ออกแบบรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพชุมชนได้
ELO11 ทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาสาธารณสุขชุมชนและคุณภาพชีวิตได้
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
เหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 20,000 บาท
การรับเข้าศึกษา
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
1) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรอง สาระการเรียนรู้ที่เน้นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
2) เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
3) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
4) ไม่เคยถูกคัดชื่อออก หรือถูกไล่ออกจากสถาบันการศึกษาใดๆ เพราะความผิดทางความประพฤติ
5) เป็นผู้มีความประพฤติดี และมีความรักในวิชาชีพสาธารณสุข
การรับสมัคร
รับสมัครผ่านระบบ TCAS ในแต่ละรูปแบบ
1. โครงการพิเศษการรับนิสิตด้วย Portfolio สมัครออนไลน์ ผ่าน https://www.admission.nu.ac.th
2. โควตา สมัครออนไลน์ ผ่าน https://www.admission.nu.ac.th
3. Admission 1 และ Admission 2 สมัครออนไลน์ ผ่าน https://www.admission.nu.ac.th
4. รับตรงอิสระ สมัครออนไลน์ ผ่าน https://www.admission.nu.ac.th
ข้อมูลอ้างอิง
อ้างอิงจาก หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยชุมชน หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565