หลักสูตร
ชื่อภาษาไทย : หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ชื่อภาษาอังกฤษ : Doctor of Public Health Program
ชื่อปริญญา
ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) : Doctor of Public Health
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : ส.ด.
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) : Dr.P.H.
ปรัชญา / วัตถุประสงค์
ปรัชญาหลักสูตร
หลักสูตรมุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิตให้เป็นผู้นำทางวิชาการสาธารณสุข เชี่ยวชาญด้านการวิจัยขั้นสูง สามารถบูรณาการศาสตร์ และสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ในการสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาสุขภาพ ตามการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ และมีความเชี่ยวชาญทางการบริหารจัดการระบบสุขภาพ ด้วยการมีภาวะผู้นำ กระบวนทัศน์การดูแลสุขภาพการสาธารณสุขแนวใหม่ มีความรอบรู้ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ รวมถึงมีความสามารถด้านการวางแผน สร้างและพัฒนานโยบาย ผลักดันสู่การปฏิบัติด้วยทักษะการสื่อสาร การปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตให้มีคุณลักษณะดังนี้
1.3.1 มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการ วิชาชีพ และมีภาวะผู้นำในการประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
1.3.2 มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ด้านสาธารณสุข หลักการและทฤษฎีเกี่ยวข้องกับสาธารณสุขศาสตร์ และองค์ความรู้ด้านการวิจัยทางสาธารณสุขศาสตร์ นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมหรือ ทำวิจัยในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข หรือพัฒนาแนวปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมระดับชาติและนานาชาติได้
1.3.3 มีความสามารถออกแบบและดำเนินการการวิจัยและนวัตกรรม และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ให้ได้องค์ความรู้ใหม่ รูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขด้วยวิธีการใหม่ๆ โดยการประยุกต์องค์ความรู้ที่ได้บูรณาการจากแนวความคิดทั้งในศาสตร์ด้านสาธารณสุขและศาสตร์ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่ซับซ้อน นำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน
1.3.4 เป็นผู้นำด้านวิชาการที่มีความสามารถในการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี การปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มยึดตามระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมที่สถาบันหรือสังคมกำหนด มีความสามารถสูงในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ทางวิชาการและวิชาชีพ และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
1.3.5 มีความสามารถสื่อสารข้อมูลสารสนเทศเชิงวิชาการ ทั้งการนำเสนอและการเขียนบทความ จากงานวิทยานิพนธ์หรือโครงการค้นคว้าที่สำคัญในระดับชาติหรือนานาชาติ โดยสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ในการนำเสนอผลงานวิชาการ
แนวทางการประกอบอาชีพ
1) อาจารย์ในสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย ฯลฯ
2) นักวิจัยทางด้านสาธารณสุขในระดับมหภาค
3) ผู้บริหารสาธารณสุขในหน่วยงานสุขภาพระดับมหภาค
4) นักวางแผนด้านสาธารณสุขในระดับชาติและนานาชาติ
5) ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาทางวิชาการด้านสาธารณสุข
6) นักวิชาการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สาธารณสุข และส่งเสริมสุขภาพ
ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร
ELO1 สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ หรือวิทยานิพนธ์ จากการสังเคราะห์ด้วยตนเองได้ ไม่คัดลอกผลงานทางวิชาการของผู้อื่นแบบไม่อ้างอิง
ELO2 แยกแยะหลักการและระเบียบวิธีการวิจัยทางสาธารณสุขศาสตร์ได้ เพื่อเป็นรากฐานความรู้ ในการทำวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข พัฒนาแนวปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพสาธารณสุข
ELO3 ประยุกต์องค์ความรู้ด้านสาธารณสุขศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความรู้ด้านสาธารณสุขที่ทันสมัย หรืองานวิจัยที่เป็นปัจจุบันทั้งระดับชาติและนานาชาติ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุขให้ได้รากเหง้าปัญหา
ELO4 สร้างรูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขด้วยองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้ความเข้าใจอันถ่องแท้ในทฤษฎีและเทคนิค การแสวงหาความรู้ รวมทั้งจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้ใหม่ด้านสาธารณสุขและงานวิจัย
ELO5 แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผลเชิงวิชาการและสร้างสรรค์ในเวทีวิชาการ วิชาชีพ และสังคม รวมทั้งรับฟังและยอมรับความคิดเห็นผู้อื่นด้วยความเคารพ
ELO6 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติขั้นสูง และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปประยุกต์แก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ได้
ELO7 เขียนบทความทางวิชาการ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิทยานิพนธ์หรือผลการค้นคว้าที่สำคัญ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเขียนโครงร่างวิจัย เขียนรายงานผลวิทยานิพนธ์ได้
ELO8 นำเสนอหรือสื่อสารข้อมูลสารสนเทศจากผลงานวิชาการ งานวิทยานิพนธ์ในเวทีวิชาการและในสังคมอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
1) จัดการเรียนการสอนวันราชการ เหมาจ่ายตลอดหลักสูตร 400,000 บาท
ภาคเรียนที่ 1 เหมาจ่าย 75,000 บาท
ภาคเรียนที่ 2 เหมาจ่าย 75,000 บาท
ภาคเรียนที่ 3 เหมาจ่าย 75,000 บาท
ภาคเรียนที่ 4 เหมาจ่าย 75,000 บาท
ภาคเรียนที่ 5 เหมาจ่าย 75,000 บาท
ภาคเรียนที่ 6 เหมาจ่าย 25,000 บาท
2) จัดการเรียนการสอนวันเสาร์ – อาทิตย์ เหมาจ่ายตลอดหลักสูตร 450,000 บาท
ภาคเรียนที่ 1 เหมาจ่าย 85,000 บาท
ภาคเรียนที่ 2 เหมาจ่าย 85,000 บาท
ภาคเรียนที่ 3 เหมาจ่าย 85,000 บาท
ภาคเรียนที่ 4 เหมาจ่าย 85,000 บาท
ภาคเรียนที่ 5 เหมาจ่าย 85,000 บาท
ภาคเรียนที่ 6 เหมาจ่าย 25,000 บาท
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 48 หน่วยกิต (หลักสูตร 3 ปี)
1. หมวดรายวิชา ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
1.1 รายวิชาบังคับ ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต
1.2 รายวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต
2. วิทยานิพนธ์ ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต
3. หมวดรายวิชาบังคับไม่นับหน่วยกิต ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต
การรับเข้าศึกษา
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วย การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2559
1) วุฒิการศึกษา ผู้เข้าศึกษาจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับรอง และมีผลการสอบภาษาอังกฤษได้ตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร
2) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในกรณีความผิดอันได้กระทำโดยความประมาท หรือความผิดลหุโทษ
3) ไม่เคยถูกคัดชื่อออกจากสถาบันการศึกษาใดอันเนื่องมาจากความประพฤติ
4) มีร่างกายแข็งแรงและไม่เป็นโรค หรือภาวะอันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
5) มีคุณสมบัติอย่างอื่นตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
คุณสมบัติเฉพาะหลักสูตร แบบ 2.1
1) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สหเวชศาสตร์ หรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากสถาบันที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับรอง
2) กรณีสำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาอื่น ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขหรือที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 2 ปี
3) หากคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ คณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต
การรับสมัคร
รับสมัครผ่านเวบไซต์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร
สมัครออนไลน์ ผ่าน https://www.admission.graduate.nu.ac.th
ข้อมูลอ้างอิง
อ้างอิงจาก หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง) พ.ศ.2565